สิริกร ลิ้มสุวรรณ รวยอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรอินทรีย์วิถีไทย


            ย้อนกลับไป 9 ปีก่อน พนักงานธนาคารคนหนึ่งยื่นใบลาออกจากงานเพื่อเบนเข็มสู่วิถีการเกษตรที่เขารู้ตัวว่าตกหลุมรักมาตั้งแต่วัยรุ่น การตัดสินใจในวันนั้นทำให้วันนี้บ้านเรามีสินค้าเกษตรอินทรีย์วิถีไทย มีศูนย์เรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย Earth Safe กิจการเพื่อสังคม บ้านรักษ์ดิน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีชาวนารุ่นใหม่วัย 30 ปี ที่มีความสุขกับชีวิต ร่ำรวยประสบการณ์ด้านเกษตรอินทรีย์ พร้อมเดินสายแบ่งปันองค์ความรู้แก่เพื่อน ร่วมอาชีพทั่วประเทศ เพื่อกองกำลังเกษตรกรที่แข็งแกร่ง รวมถึงมุ่งสร้าง Young Smart Farmer เพิ่มขึ้นผ่านการสอนที่คณะนวัตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต จึงนับได้ว่าเป็นการเลือกที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงของเขาคนนี้ สิริกร ลิ้มสุวรรณ


รักวิถีเกษตรด้วยแพสชั่นไม่ใช่แฟชั่น

          การตัดสินใจผละจากงานการตลาดของธนาคารหันมาทำนาของหนุ่มเมืองกาญคนนี้แน่นอนว่าไม่ได้เกิดจากกระแสหวนคืนธรรมชาติตามแฟชั่น หากแต่เป็นแพสชั่นที่มีต่อวิถีเกษตรมานาน “แรงบันดาลใจมีมาตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยม 3 ผมเรียนที่โรงเรียนเฉลิม-พระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องไปช่วยงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตัวเองชอบ ผมไปเห็นศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ที่สอนเรื่องการพัฒนาดินและน้ำเป็นหลัก ก็ได้ซึมซับมา และเป็นคนชอบทำกิจกรรม ปลูกป่าสร้างฝาย ออกค่ายอาสา ถึงแม้ผมจะเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตามแนวทางของคุณแม่ที่เป็นนักกฎหมาย แต่ช่วงที่กลับบ้านวันหยุดก็ยังทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ เป็นงานอดิเรก เลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลเป็นปุ๋ยอินทรีย์บ้าง ปลูกต้นไม้บ้าง

          “พอเรียนจบก็กลับบ้าน ได้งานธนาคาร ฝ่ายการตลาด เงินเดือนดี แต่ไม่มีความสุขกับมัน ทุกวันรู้สึกว่าไม่อยากตื่นมาทำงานในสิ่งซ้ำเดิมที่ไม่ใช่ทางของเรา ระหว่างนี้ผมยังทำเกษตรไปด้วย ทำนาดำในพื้นที่ที่คุณยายยกให้ 1 ไร่ กับเช่าเพิ่มอีก 3 ไร่ จนมีจุดเปลี่ยนคือแม่ผมป่วย ไม่ได้หนักมาก แต่ผมลางานไม่ได้เนื่องจากวันลาหมดแล้ว ผมมาคิดว่าถ้าต้องแลกระหว่างงานกับสิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว ผมเลือกครอบครัวดีกว่า ก็เลยลาออก ทำงานธนาคารถึงวันสุดท้าย วันรุ่งขึ้นดำนาเลย คนเดียว ตั้งแต่ 7 โมง ถึง 2 ทุ่ม นาของผมเป็นแบบอินทรีย์ล้วน ผมไม่ไล่อะไรเลย ปล่อยปู ปล่อยหนู นกปากห่าง อยู่ในทุ่งนา คนก็ว่าบ้าไปแล้ว แต่ตอนนี้คนที่พูดแบบนั้นเริ่มทำนาอินทรีย์แล้วนะ เพราะรู้ว่าทำแล้วมันได้ราคา”

01 (1) 

ทำนา ไม่ใช่แค่เพื่อขายข้าว

          “ผมวางแผนไว้แล้วว่าผมจะปลูกข้าวอินทรีย์โดยไม่ขายให้โรงสี เพราะมีงานวิจัยของญี่ปุ่นที่เอาข้าวหอมมะลิ 105 ไปวิจัยแล้วทำเป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้า จึงเปลี่ยนวิธีคิดมาทำโปรดักต์จากข้าวแทน ซึ่งถ้าเป็นเครื่องสำอางผู้หญิงก็จะยินดีซื้อ ก็เลยปลูกข้าวเพื่อทำผงพอกหน้าจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 1 กิโลกรัม ผมขายข้าวได้ประมาณ 1,990 บาท ก็คือ 1 ขีด ขาย 199 บาท ดังนั้นผมทำนาทั้งหมดแค่ 800 กิโล ผมได้มูลค่าเพิ่มทางการเงินมากกว่าคนทำนา 10 ไร่อีก

          “จากนั้นก็ทำตลาดออนไลน์ สร้างเพจเฟซบุ๊ก ‘บ้านรักษ์ดิน’ แล้วขายแบบพรีออเดอร์ หาคนมาสั่งซื้อก่อนแล้วค่อยทำโปรดักต์ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางการเงิน ได้เงินแน่นอนโดยยังไม่ได้เกี่ยวข้าว ผู้บริโภคก็มั่นใจว่าได้ของดีแน่นอนโดยไม่ต้องไปตระเวนหาที่ไหน นอกจากนี้ผมยังทำโครงการ ‘ไข่ไก่ขบถ’ ที่ขบถจากวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม เราเลี้ยงแบบทำอาหารสัตว์กันเอง ไม่ใช้ข้าวโพดที่ทำลายผืนป่า ปลูกสมุนไพรให้ไก่กิน ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แล้วก็ส่งไปขายในห้างฯ ในร้านค้า ร้านกาแฟ เป็นสิ่งแรกๆ ที่ทำเอาไว้ จนปีนี้ก็เป็นปีที่ 9 แล้วครับ

          “อีกงานหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการเป็น Smart Farmer ก็คือการแปรรูป โดยก่อนปลูกต้องดูก่อนว่าอะไรแปรรูปได้ อย่างผมปลูกสมุนไพร อัญชัน ตะไคร้ ใบเตย ก็นำมาแปรรูปเป็นชาสมุนไพร แล้วสร้าง QR Code ลูกค้าสแกนผ่านสมาร์ตโฟนแล้วจะเห็นหน้าเราเลย ไข่ไก่กล่องนี้ใครเป็นคนเลี้ยง หรือชาสมุนไพรใบเตยกล่องนี้ป้าคนนี้ปลูก รางจืดป้าคนนี้ปลูก เราพยายามสร้างความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างคนกินกับคนปลูก ได้เห็นหน้าเห็นตากัน ได้เชื่อใจกัน ก็จะเกิดกระบวนการกินอย่างรู้ที่มาที่ไป แล้วก็กินอย่างรับผิดชอบด้วย”

แนวทางทำเกษตรกรรม ตาม ‘ศาสตร์พระราชา’

          กล่าวได้ว่า ศูนย์เรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย Earth Safe กิจการเพื่อสังคม บ้านรักษ์ดิน ที่กาญจนบุรี แห่งนี้ เกิดจากการปรับใช้ ‘ศาสตร์พระราชา’ ด้านการทำเกษตรอินทรีย์วิถีไทยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ร่วมกับการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสมในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงพอกหน้าข้าวหอมมะลิ แชมพูสระผมข้าวหอมนิล เครื่องดื่มชาสมุนไพรอินทรีย์วิถีไทย และไข่ไก่ขบถ ไข่ไก่อินทรีย์วิถีไทย

          “ศาสตร์พระราชาที่จับต้องได้อยู่ตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงคิดวิธีการให้เรามาหลายสิบปีแล้ว ผมก็แค่ไปค้น เท่านั้นเอง ไปเรียนรู้การคัดพันธุ์ข้าวจากอาจารย์เดชา ศิริภัทร ที่มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี ท่านคัดพันธุ์ข้าวเลยว่าข้าว 1 เมล็ด เวลาไปปลูกจะแตกกอกี่กอ 1 กอ ได้ข้าวกี่รวง แล้ว 1 รวงได้ข้าวกี่เมล็ด ฉะนั้น 1 ไร่ สามารถปลูกข้าวได้เป็นตัน เพียงแต่ว่าเราเอานวัตกรรมสมัยนี้เข้ามาจับ ภูมิปัญญาทางการเกษตรกับนวัตกรรมต้องผนวกเข้ากันให้ได้ ผมมองว่าการทำเกษตรพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชานั้น สามารถทำให้รวยได้ และเป็นการรวยอย่างยั่งยืนซึ่งพระองค์ท่านทรงบอกวิธีการพวกเราทุกปี”

          วิธีที่จะรวยอย่างยั่งยืนตามที่เกษตรกรหนุ่มหมายถึงนั้น ได้แก่ ทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย ขั้นที่ 1 พอกินขั้นที่ 2 พอใช้ ขั้นที่ 3 พออยู่ ขั้นที่ 4 พอร่มเย็น เป็น 4 ขั้นพื้นฐานที่เกษตรกรต้องผ่านให้ได้ ก่อนข้ามไปสู่ขั้นที่ 5 และ 6 บุญและทาน โดยพยายามให้พืชพรรณที่เพาะปลูกปลอดจากสารเคมีที่จะทำร้ายคนกิน ขั้นที่ 7 คือเก็บรักษาไว้ใช้ในยามเกิดวิกฤติ ขั้นที่ 8 การขาย Branding ที่แตกต่างจากการในตลาดทั่วไป อย่างกรณีของ ‘บ้านรักษ์ดิน’ เป็นต้น และท้ายสุดขั้นที่ 9 ต้องสร้างเครือข่าย หรือเรียกกันว่า การสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้ กระจายความร่วมมือเพื่อที่จะไม่ต้องทำงานเพียงคนเดียว

          “ศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทยที่กาญจนบุรี บ้านรักษ์ดิน เป็นศูนย์แรกเลยที่สร้างขึ้น สอนการเลี้ยงไก่ไข่ขบถ มีการปลูกผักแบบยกพื้นขึ้นมา เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ต้องก้มลงไปเก็บผัก ไม่ปวดหลัง คนนั่งรถเข็นก็ทำงานได้ เปิดเป็นศูนย์บรรยายสำหรับกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ที่เขามีพริกกะเหรี่ยงแต่ว่าขอมาตรฐาน Organic Thailand หรือ GIP ไม่ได้ ผมก็ช่วยด้วยการให้เขามาใช้คำว่า ‘อินทรีย์วิถีไทย’ เพราะเรามีตลาดรองรับแน่นอน ขณะที่ตัวผมเองก็เดินสายไปบรรยายทุกแห่งที่มีการรวมกลุ่มกัน แล้วเอาตลาดไปรองรับด้วย ถ้าใครที่พร้อมเปลี่ยน คุณเอาทฤษฎีบันได 9 ขั้นไปใช้ก่อน ใครใช้ได้ก่อนทำก่อน เพื่อเป็นตัวอย่าง

          “บ้านรักษ์ดิน เป็นโมเดลธุรกิจแบบกิจการเพื่อสังคมขนาดเล็ก อาจจะเล็กที่สุดเลยก็ได้ เพราะว่ามีพื้นที่แค่ไร่เดียวแต่ทำทุกอย่างเลย ซึ่งที่มันไปได้เพราะว่าเราต่อแต่ละจุดให้มันเชื่อมโยงกันให้ได้ เราไม่โตคนเดียว แต่มีจุดทั่วประเทศเลย ตอนนี้ก็มีบ้านรักษ์ดินที่อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ น่าน ทุกที่ก็จะมีคนในพื้นที่จัดการดูแลตามนโยบายจากที่เราวางไว้ โดยเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม เช่น ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกแล้วได้ของดีไว้กิน ถ้าเหลือก็ขาย ทีมงานก็เป็นคนในชุมชน กลับมาทำงานที่บ้านเรา ทุกคนมีงานทำ มีผลผลิตของตัวเอง แล้วเราก็มารวมกันขายเป็นชุมชน สร้างความเข้มแข็งได้”



อุปสรรคมีไว้ให้ผ่าน ก่อนพบความสำเร็จ

          กระแสตอบรับในสินค้าเกษตรอินทรีย์ถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในระยะ 1-2 ปี มานี้ พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีเพียง 2% จากพื้นที่เกษตรทั้งหมด เริ่มได้รับการสั่งซื้อจากหน่วยงานใหญ่ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน ห้างสรรพสินค้าเริ่มมีชั้นวางอาหารออร์แกนิกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่เกษตรกรปริญญาโทต้องเผชิญแรงกดดันจากความไม่เข้าใจของสังคมรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวตัวเอง

          “ผมเชื่อว่าสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นคือเราอยู่รอดได้ในวันที่เขาไม่อยู่ ดังนั้น คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกตัวเองทำงานประจำดีอยู่แล้ว ลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกร เพราะภาพจำเมื่อ 10 ปีก่อน การเกษตรยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งเหนื่อย ไม่มีใครทำแล้วรวย เขาเห็นมาเยอะว่ามันไปไม่รอด เพื่อนพ่อแม่ก็มีมาพูดกระทบว่าบ้าหรือเปล่า ลูกจบปริญญาโทแล้วมาทำเกษตร แม่กลับมาร้องไห้ ถึงขั้นจะเออร์ลี่รีไทร์ ไม่อยากไปทำงานแล้ว ผมก็เลยบอกให้เอาผัก เอาข้าว ไปให้เขากิน คือตัวเราเองมีหน้าที่ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่ามันรอดได้จริง ต้องมีทั้งแผนระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้นให้เขาเห็น

          “และในวันนี้เราทำให้เห็นแล้วว่าถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่ แบรนด์บ้านรักษ์ดินมันจะยังอยู่เพราะมันถูกอุ้มชูโดยสังคมซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่บ้านเราเอง เพราะการจะเป็น Smart Farmer ในยุคนี้ คุณต้องมีภูมิคุ้มกันให้ได้ Smart Farmer คือการทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่แบบชาญฉลาด โดยต้องดูความต้องการของตลาด แต่ไม่ใช่เอาตลาดนำโดยไม่มีตลาดอื่นรองรับเลย ต้องปรับตัวนำนวัตกรรมเข้ามาเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ใช่ฝังไหไว้มันคือการใช้แล้วส่งต่อ

          “ตอนนี้แรงกดดันจากความเชื่อเดิมหายไปแล้ว คนที่เคยดูถูกเหยียดหยามเรา วันนี้ก็กลายเป็นลูกค้าเรา แต่แรงกดดันในตอนนี้กลายเป็นการผลิตผลผลิตให้ทันต่อตลาด อย่างเช่น ผักอินทรีย์ปลูกเท่าไรก็ไม่ทันการทำเกษตรอินทรีย์มันแทบจะไปตลาดมวลชนไม่ได้เลย เพราะทำในปริมาณพื้นที่เยอะๆ แปลงใหญ่ไม่ได้ จะเหนื่อย ดูแลไม่ได้ แล้วคุณภาพที่เป็นจุดขายของเราจะตกลง ดังนั้น เราจึงต้องรวมกลุ่มกัน ต้องมีแผนการผลิตว่าในหนึ่งปีเราต้องมีพืชพรรณอะไรบ้าง แต่ละกลุ่มหมู่บ้านห้ามปลูกซ้ำกัน ต้องจับแมตช์ชุมชนเหล่านี้ให้ได้ คำว่าเกษตรยั่งยืน ถ้ามองในมุมเกษตรอินทรีย์จะต้องเกิดจากการพยายามพึ่งพาตัวเองก่อน เรียนรู้ทำความรู้จักกับตัวเองก่อนว่าตัวเราทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ทำเกินตัว ต้องมีภูมิคุ้มกันก่อน อย่าเพิ่งไปเห่อตลาด”


เป้าหมายต้องใหญ่และไปต่อ

          “สำหรับเป้าหมายของผมหลังจากนี้ก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ ขยายเพิ่มทั้งในแง่ของผลผลิต แล้วก็องค์ความรู้ สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ได้ เพราะเกษตรกรคือเสาหลัก เราต้องกินข้าวทุกวัน แต่คนที่เป็นเกษตรกรปลูกข้าว ปลูกผัก ทำอาหารเลี้ยงคนมีน้อยลงทุกวัน สวนทางกับกลุ่มประชากรที่เพิ่มขึ้น นี่คือปัญหา ใครจะปลูกผักปลูกผลไม้ ถ้าเราไม่ทำเองในวันนี้ เพื่อกินเอง แล้วก็ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปข้างหน้าด้วย จึงต้องสร้าง Young Smart Farmer ให้ได้

          “ความสุขของผมที่เพิ่มขึ้นคือในวันนี้เราได้เห็นกลุ่มชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ที่หวังว่าจะเห็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราได้เห็นว่าเขาอยู่ได้จากสิ่งที่เราเริ่มไว้ วันนั้นเราทำของเราอยู่คนเดียว แต่วันนี้เรามีเครือข่ายเยอะมาก ทั้งเหนือ ใต้ออก ตก ได้ไปเห็นคนที่ไม่มีกิน วันนี้เขาอิ่มแล้ว และพร้อมส่งต่อ ในวันนี้เขาจะไม่ปลูกมัน ไม่ปลูกอ้อยที่ใช้เคมีอีกแล้ว นี่ก็ถือว่าผมสำเร็จแล้ว สำหรับเป้าหมายใหญ่ที่อยากทำให้ประเทศไทยเป็นอินทรีย์ 100% แม้มันยากมาก แต่เราก็ตั้งเอาไว้เป็น Main Road แต่เป้าหมายสูงสุดของผมคือไม่อยากให้ทุกคนลืมในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ลืมสิ่งที่พระองค์ทรงทำเอาไว้ โดยเราจะเน้นเรื่องศาสตร์พระราชาที่จับต้องได้ สิ่งที่ทำนั้นต้องกินได้ ต้องขายได้ และส่งต่อได้ด้วย”


ขอบคุณที่มา วารสารบัวบาน ISSUE 8

สนับสนุนโดย