ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ปลูกถ่าย ลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร เป็นรายแรกของไทย
“เพราะ 1 ชีวิต ไม่ได้ต่อชีวิตให้ กับคนเพียง 1 คนเท่านั้น”
นี่คือประโยคที่เป็นจริง ที่เกิดขึ้นกับ คุณนภัคพร บุญญาภิสิทธิ์ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน และกระเพาะอาหารในคราวเดียวกันสำเร็จเป็นรายแรกของไทย ให้ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารัก และคนที่รักเราไปนานๆ
คุณนภัคพร เล่าว่า สมัยเรียนมหาวิทยาลัยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้คือโรคไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้แปรปรวน โดยมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกันแต่ไม่ได้มีอาการร้ายแรง จนกระทั่งในปี 2561 ได้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงขึ้นคล้ายกับมีเด็กถีบอยู่ในท้อง และมีอาการอาเจียนพุ่ง จึงได้มาโรงพยาบาลคุณหมอได้ให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan พบว่ามีเนื้องอกอยู่ตอนต้นของลำไส้เล็ก จึงเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดเนื้องอกออก และนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เพราะหลังการผ่าตัดเกิดหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอุดตัน ทำให้ลำไส้เล็กทั้งหมด และอวัยวะในช่องท้องอื่นบางส่วนขาดเลือดต้องผ่าตัดอวัยวะเหล่านั้นออก จึงเกิดภาวะลำไส้สั้น ทำให้เราไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติแบบคนทั่วไปได้ ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดไปตลอด ซึ่งสารอาหารที่ได้รับทำให้มีไขมันไปพอกที่ตับอีก ตับก็โดนทำลายไป คุณหมอจึงลงความเห็นว่าต้องเปลี่ยนตับด้วย ส่วนกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และตับอ่อน ก็เป็นผลข้างเคียงที่โดนด้วย เพราะเนื้องอกอยู่บริเวณใกล้เคียงกันทำให้ส่งผลกระทบไปทั้งหมด ทีมคุณหมอศัลยแพทย์ก็เริ่มปรึกษาว่าอวัยวะของเราเริ่มจะไม่สามารถใช้งานได้แล้ว จึงลงความเห็นว่าควรปลูกถ่ายอวัยวะ 4 อวัยวะพร้อมกันคือ ตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก เนื่องจากลำไส้เป็นอวัยวะที่ค่อนข้างเปราะบาง และทนต่อการขาดเลือดได้ไม่นาน ผู้บริจาคที่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องเป็นผู้บริจาคสมองตายที่มีสัญญาณชีพคงตัว ผลตรวจเลือด หมู่เลือดตรงกับผู้ป่วยและการทำงานของระบบต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องรออวัยวะบริจาคที่เหมาะสมอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
“ทางครอบครัว และตัวเราเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาถึงขั้นรักษาโดยวิธีปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งในตอนนั้นคิดว่าเราจะมาผ่าตัดรักษาเนื้องอก ซึ่งอีกไม่นานก็กลับบ้านได้ แต่ในความเป็นจริง ตั้งแต่ผ่าตัดเนื้องอกเสร็จแล้ว เราต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 3 ปีไม่ได้มีโอกาสกลับบ้านเลย ทางครอบครัวจึงไม่ได้เตรียมตัวรับกับสถานการณ์แบบนี้เลย แต่เราก็ช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน และการที่เราป่วยไม่ใช่ป่วยแค่คนเดียว คนรอบข้าง และคนที่รักเรามีผลกระทบทั้งหมด”
จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2564 ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยได้แจ้งกับโรงพยาบาลศิริราชว่าได้มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย และคุณหมอได้มาปลุกประมาณตี 3 และบอกว่า นภัคพร ได้อวัยวะแล้วให้ไปเตรียมตัว ตอนนั้นรู้สึกงงๆ และดีใจไปพร้อมๆ กัน ในใจเป็นกังวลว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ตอนนั้นคิดแต่เพียงว่าถ้าสำเร็จอยากจะกลับบ้านมากๆ 3 ปีที่อยู่บนเตียง มันทรมาน อยากกลับบ้านไปทำในสิ่งที่คนอื่นทำกันได้ง่ายๆ เช่น กลืนข้าวได้เอง รู้จักคำว่าอิ่มได้ และก็สามารถพาคนที่เรารักไปเที่ยวได้ และเมื่อวันที่เราได้กลับมาบ้านจริงๆ ยังจำภาพวันนั้นได้ดี ลูกสาว และสามีก็มารอรับเราที่โรงพยาบาล มีคุณแม่รอเราอยู่ที่บ้าน ซึ่งร่างกายเรายังไม่ดีเต็มที่หลังจากที่นอนโรงพยาบาลมา 3 ปี กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงต้องมาฝึกเดิน ต้องทำกายภาพบำบัด ทุกคนในครอบครัวจะคอยช่วยกัน ลูกคนโตจะช่วยทำแผล ส่วนลูกคนเล็กจะช่วยหยิบของให้ เพราะการผ่าตัดทำให้เราไม่มีกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหายไป คุณหมอใช้ตาข่ายพยุงหน้าท้องไว้ และสำหรับผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนอื่น ยังต้องทานยากดภูมิคุ้มกันและต้องทานยาไปตลอดชีวิต
“ก่อนที่จะมาผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนั้น ไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องมาถึงจุดนี้ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะเป็นผู้ให้ หรือผู้รับ และก่อนที่จะป่วยจนเข้าโรงพยาบาล ทางครอบครัวของเราได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้แล้วทั้งครอบครัว และได้บริจาคเลือดก่อนเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเราจะเป็นผู้รับอวัยวะ จึงคิดได้ว่าการให้อวัยวะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทำให้คนๆ หนึ่งได้มีลมหายใจต่อได้ จึงอยากให้ทุกๆ คนเห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะสามารถช่วยขีวิตได้อีกหลายชีวิต”
คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการให้ไม่สิ้นสุดได้ ด้วยการร่วมแสดงความจำนงบริจาคดวงตา อวัยวะ และเงินช่วยเหลือ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทยที่ www.letthemseelove.com